“แรงจี” ต่อนักแข่ง ในศึก MotoGP และ Formula 1 คืออะไร ? ต่างกันมั้ย ?

ในโลกของการแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ต “แรงจี” คือสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในตอนที่เหล่านักแข่งขึ้นนั่งบนยานพาหนะ แล้วต้องขับขี่ตัวแข่งเหล่านั้นหวดในสนาม แรงที่ว่าก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีกจนหากคุณไม่ได้ฟิตร่างกายมาเพื่อมันจริงๆ ก็คงไม่มีทางรับมันได้ไหวแน่นอน
“แรงจี” หรือ “Gravity Force” คือ แรงกระทำรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากสนามแม่เหล็กของโลก ซึ่งมีผลทำให้วัตถุเกิดอัตราเร่งในด้านใดด้านหนึ่งอยู่ตลอดเวลา โดยหากเป็นสภาวะปกติ เจ้าแรงที่ว่านี้ ก็จะถูกเรียกว่า แรงโน้มถ่วงโลก และจะส่งผลให้วัตถุทุกชิ้นบนโลก มีน้ำหนัก จากการถูกสนามแม่เหล็กดูดวัตถุลงสู่พื้น ด้วยอัตราเร่งในแนวดิ่ง 9.72 เมตร/วินาที เมื่อคุณยืนอยู่บนพื้นโลกในระดับความสูงเดียวกับกับระดับผิวน้ำทะเล ซึ่งจะถูกแทนค่าให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นว่า “1 g”

โดยหากวัตถุนั้นๆ มีแรงกระทำ มาทำให้มันต้องเคลื่อนที่ไปในทิศทางอื่น แรงนั้นก็จะถือว่าเป็นแรง g อีกชนิดหนึ่งเช่นกัน และยิ่งแรง g ที่ว่านี้เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งทำให้เกิดน้ำหนักผลักวัตถุสวนทางกับทิศทางการเคลื่อนที่มากขึ้นเป็นทวีคูณเสมอๆ
เช่นหากคุณที่มีน้ำหนัก 80 กิโลกรัม กำลังเคลื่อนที่ไปด้านหน้า ด้วยอัตราเร่ง 2 g คุณก็จะรู้สึกถึงน้ำหนักตัวคุณเองที่ทวีคูณขึ้นอีก 2 เท่า หรือก็คือ มีน้ำหนักราวๆ 160 กิโลกรัม กำลังกดทับตัวคุณไปทางด้านหลังอยู่ ตราบใดก็ตามที่ร่างกายของคุณกำลังเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร่งข้างต้น

หากเป็นโลกของการแข่งขันกีฬามอเตอร์สปอร์ต ที่นักแข่งจะต้องเจาะกับแรงเหวี่ยง แรงกระทำ แรงโน้มถ่วงอยู่ตลอดเวลาอย่างมหาศาล จากสมรรถนะของเหล่าตัวแข่งอันยอดเยี่ยม ทั้งความสามารถในการเรียกอัตราเร่ง และการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง โดยเฉพาะกับเหล่านักแข่งรถ Formula 1 ที่ตัวแข่งของพวกเขาสามารถเข้าโค้งได้ด้วยความเร็วสูงอยู่เสมอๆ จนเกิดแรงเหวี่ยงระดับ 3-5 g ในทุกครั้งที่มีการเข้าโค้ง เร่ง เบรก ตามจุดต่างๆของสนาม
นั่นจึงเท่ากับว่าหากนักแข่ง F1 มีน้ำหนักตัวราว 70 กิโลกรัม เวลาที่เข้าโค้ง ร่างกายของเขาก็ต้องรับน้ำหนักมากสุดถึง 350 กิโลกรัม ไม่นับรวมชุดแข่งต่างๆที่จะเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย หรือถ้าคุณยังรู้สึกปวดร้าวไม่มากพอ น้ำหนักศรีษะของมนุษย์หนึ่งคนจะอยู่ที่ราวๆ 2.3-5 กิโลกรัม เมื่อรวมกับน้ำหนักหมวกกันน็อคและส่วนพ่วงอื่นๆบนศรีษะที่มีน้ำหนักราวๆ 1.25-1.5 กิโลกรัม
ก็จะเท่ากับว่าในการเข้าโค้งแต่ละครั้ง กล้ามเนื้อต้นคอของนักแข่ง F1 ก็จะต้อง ประคองน้ำหนักที่มากสุดถึง 12.5 กิโลกรัม ซึ่งอาจจะดูไม่มาก แต่คุณต้องไม่ลืมว่าเหล่านักแข่งต้องเจอมันซ้ำๆ หลายสิบครั้งต่อรอบสนาม ที่ต้องวิ่งกันหลัก 50 รอบสนาม ถึงเกือบ 80 รอบ ตลอดการแข่งขันราว 1.5-2 ชั่วโมง

ดังนั้นจึงไม่แปลกนัก หากเรามักจะพบเห็นว่านอกจากกล้ามเนื้อช่วงแขนที่นักแข่ง F1 ต้องให้ความสำคัญอย่างหนัก เพื่อการสู้แรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นให้ได้ขณะหักพวงมาลัย กล้ามเนื้อต้นคอ ก็เป็นอีกสิ่งที่นักแข่งเหล่านี้ พยายามฝึกปรือ และเสริมความแข็งแรงของมันอยู่เสมอจนกลายเป็นหนึ่งในการฝึกที่ดูแปลกตาอย่างมากสำหรับผู้ที่ไม่เคยติดตามการแข่งขันชนิดนี้มาก่อน
ส่วนการแข่งขัน MotoGP เอง เหล่านักบิดบนตัวแข่ง 2 ล้อสมรรถนะสูงเหล่านี้ ก็ต้องเจอกับแรงเหวี่ยงที่หนักหน่วงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับแรงเหวี่ยงในตอนเบรกหนักๆก่อนเข้าโค้ง ซึ่งอาจจะสามารถเกิดแรงโน้มถ่วงไปทางด้านหน้ามากสุดถึง 1.8 g และโดยเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ราวๆ 1.1-1.4 g แล้วแต่รูปแบบสนาม
แน่นอนว่าตัวเลขข้างต้น อาจจะไม่ได้สูงมากนัก เมื่อเทียบกับสิ่งที่นักแข่ง F1 ต้องพบเจอ แต่เราต้องไม่ลืมว่านักบิด MotoGP ไม่ได้มีเข็ดขัดนิรภัย หรือเบาะนั่งที่คอยรั้ง หรือประคองตัวพวกเขาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวแข่ง เหมือนรถยนต์ล้อเปิดสูตรหนึ่ง และทำให้ทั้งแขน ขา ลำตัว ต้นคอ ก็ต้องแบกรับภาระน้ำหนักของตนเองจากแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ดี

ส่วนแรงเหวี่ยง หรือแรงโน้มถ่วงที่เกิดขึ้นขณะเข้าโค้งต่อตัวนักบิด MotoGP จะแตกต่างจากนักแข่งรถ Formula 1 พอสมควร เพราะนักแข่งในรายการหลัง จะต้องเจอกับแรงกระทำในระนาบเดียวอยู่เสมอ นั่นคือทางด้านข้างโดยรอบ ไม่ว่าจะหน้า หลัง ซ้าย และขวา
ขณะที่ในการขี่รถมอเตอร์ไซค์ อย่างตัวแข่ง MotoGP นักบิดก็อาจจะต้องเจอกับแรงเหวี่ยง ผลักตัวให้ถูกกดไปด้านหน้า เมื่อเบรก และถูกดันไปข้างหลังเมื่อเร่ง คล้ายๆกับนักแข่ง Formula 1 แต่ตอนที่นักแข่งยานพาหนะ 2 ล้อ กำลังเข้าโค้งอยู่ แรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นจะไม่ได้ผลักตัวผู้ขี่ทางด้านข้างตรงๆขนาดนั้น
เพราะตัวนักแข่งต้องเอียงทั้งรถและเอียงตัวเพื่อสู้กับแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว และทำให้แรงเหวี่ยงเกิดขึ้น มักมาในทิศทางเหนือลำตัวผู้ขี่ และค่อนไปทางด้านข้างนิดๆอยู่เสมอๆแทน โดยที่ไม่ได้มีสิ่งใดมาคอยช่วยรั้งพวกเขาให้ยังอยู่นั่งอยู่บนรถได้ นอกจากอวัยวะส่วนต่างๆ ทั้งมือ แขน เขา เท้า และลำตัวของตัวเขาเองที่ต้องคุมตัวแข่งระดับเกือบๆ 300 แรงม้าให้อยู่หมัด
ทั้งนี้ ไม่ว่าทิศทางของแรงเหวี่ยงจะเกิดขึ้นในด้านใด เหล่านักแข่งทั้งในรายการ Formula 1 กับ MotoGP หรือในการแข่งขันอื่นๆ เหล่านักแข่งก็จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมร่างกายให้พร้อมสำหรับการสู้กับแรงเหวี่ยง หรือแรงจี ที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะมันจะส่งผลถึงผลงานของพวกเขาแน่นอน หากร่างกายไม่ได้ฟิตพอที่จะสู้กับแรงเหวี่ยงมหาศาลเหล่านี้ให้ไหวจริงๆอย่างสม่ำเสมอ
Source Cr.: Repsol, GP fans, Paddock GP, Businessinsider
อ่านข่าว General Tips เพิ่มที่นี่
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish