Home  »  News Talk   »   ทำไมคนสมัยก่อนชื่นชมคนขี่รถบิ๊กไบค์!!…ย้อนรอยอดีตจุดเริ่มต้น “รถสี่สูบ” สู่จุดจบสังคม “รถอินวอย”

ทำไมคนสมัยก่อนชื่นชมคนขี่รถบิ๊กไบค์!!…ย้อนรอยอดีตจุดเริ่มต้น “รถสี่สูบ” สู่จุดจบสังคม “รถอินวอย”

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-2

ในยุคเฟื่องฟูของซุปเปอร์ไบค์เมืองไทยใน พ.ศ.นี้ ที่มีรถมอไซค์ขนาดใหญ่วิ่งกันทุกซอกทุกมุม มีใช้กันตั้งแต่เด็กวัยรุ่นขาสั้นที่ยังไม่มีใบขับขี่กันจนไปถึงระดับผู้บริหารต่างๆ เรียกว่าไม่มีใครไม่รู้จักรถซุปเปอร์ไบค์หรือรถบิ๊กไบค์กันเลยก็ว่าได้ในยุคนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายดาย มีผู้ผลิตรถแต่ละค่ายเข้ามาจำหน่ายและให้บริการจนเรียกว่า มันไม่ได้เป็นสิ่งแปลกหรือพิเศษอะไรอีกแล้ว มีความเป็นมาตราฐานขึ้น มีศูนย์บริการรองรับ มีอะไหล่รองรับ ทุกอย่างเป็นไปตามปกติของมันอย่างที่ทั่วโลกเป็นกัน

 

เรื่องราวที่แอดจะได้เล่าต่อไปนี้ อาจเป็นแค่เศษเสี้ยวของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตเท่านั้น เพราะพวกเรามันสายแข่งไม่ใช่สายปาร์ตี้ คืออยากจะเล่าถึงประวัติความเป็นมาของรถบิ๊กไบค์ในบ้านเราให้กับเด็กวัยรุ่นยุคนี้ได้รับรู้ถึงความสนุกสนานและความยากลำบากในอดีตของกลุ่มคนที่มีใจรักมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ที่สมัยนั้นคนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า รถสี่สูบ หรือรถชอปเปอร์ หรืออีกชื่อคือ รถใหญ่ ที่กว่าจะมาเป็นรถบิ๊กไบค์ในปัจจุบันนี้มันผ่านอะไรกันมาบ้าง และสังคมการใช้รถสมัยนั้นเป็นเช่นไร และสุดท้าย เรดบารอนกรุงเทพ เกิดมากันยังไงจนถึงทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-12

ย้อนหลังกลับไปตอนยุคสมัยที่แอดยังเป็นวัยรุ่นประมาญปี พ.ศ. 2530 หรือกว่า 30 ปีมาแล้ว ยุคนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นยุดเฟื่องฟูของรถบิ๊กไบค์ยุคแรกของเมืองไทยเลยทีเดียว ซึ่งจริงๆมันมีกันมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่มันเป็นอะไรที่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลจริงๆ พูดง่ายๆ คือ ต้องมีเงินกันจริงๆ จังๆ ยุคที่เริ่มเข้ามาในวงการน้นมันเป็นยุคที่เฟื่องฟูสุดๆ ในยุคนั้นแล้ว ผู้ค้าก็มาจากคนเล่นรถเฉกเช่นเดียวกับยุคนี้ เล่นรถใหญ่อยู่คิดอะไรไม่ออกก็เปิดร้านเปิดร้านจนมีร้านเต็มไปหมดเหมือนยุคนี้เช่นกัน

 

รถบิ๊กไบค์คันแรกคือ 1987 NSR250R ยุคนั้นมันคือรถสนามที่วิ่งถนนได้ดีๆ นั่นแหละ สมัยนั้นแต่ละค่ายที่ทำรถสปอร์ตออกมาขายนี่ต้องยัดเทคโนโลยีจากรถแข่งมาแบบเต็มๆ ทั้งนั้น ไม่มีกั๊ก ซึ่งเป็นเรื่องที่วัยรุ่นในยุคนี้อาจจะยากที่จะได้สัมผัสรถแบบนี้ในตลาด คันที่สองก็ยังเป็น NSR250R เหมือนเดิม แต่ขยับใหม่ขึ้นมาเป็นรุ่นปี 1989 ก็บอกแล้วไงสายแข่งไม่ใช่สายปาร์ตี้ ในยุคนั้น รถใหญ่พวกนี้มาจากไหนยังไง มันคือรถมือสองจากญี่ปุ่นที่ผู้ค้ายุคนั้นจะต้องบินไปซื้อรถมือสองในประเทศญี่ปุ่น แล้วก็จัดการรื้อออกเป็นชิ้นๆ เพื่อให้สามารถนำเข้ามาได้โดย………(ออกอากาศไม่ได้) 

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-11

แล้วก็นำมาประกอบกลับเดิมแล้วนำไปจดทะเบียนเพื่อใช้งานบนท้องถนนกัน สมัยนั้นผู้ค้ารถดังๆ ก็มีอยู่หลายเจ้ามากมาย รถมือสองที่นำเข้ามาขายในบ้านเราก็มีให้เลือกอยู่ 2 แบบ แบบแรกก็คือรถชนรถล้มรถอุบัติเหตุซึ่งราคาไม่ค่อยแพงแต่ร้านค้าก็ต้องนำมาซ่อมแซมเพื่อนำไปขาย ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือแต่ละเจ้าว่าจะมีฝีมือและลงทุนซ่อมกันมากน้อยเท่าไหร่ ส่วนอีกแบบคือรถมือสองสภาพสวยๆพร้อมใช้งาน เรียกว่า”รถบริการ” ราคาก็แพงขึ้นไปตามสภาพ แหล่งหารถดังๆในสมัยนั้นก็ต้องโกดังรัชดาเลียบแม่น้ำ มีหลายโกดังรวมกันอยู่ที่นั่น มีของลงวันไหนแถบนั้นก็จะคึกคักไปด้วยพ่อค้ารถจะทั่วทุกสารทิศ แย่งกันเลือกรถแบบใครไวใครได้

 

รถที่เป็นที่นิยมในยุคนั้นก็เป็นพวก 250 และ 400 ซีซี พวก CBR250RR , CBR400RR ,  NSR250R , FZR400R ,  ZXR400R , ZXR250R VER400R , GSXR400R , GSXR250R อะไรพวกนี้ แต่ถ้ามีเงินมากหน่อยก็จะไปเล่นพวก 750 ซีซี ซึ่งเปรียบเสมือนรถตัวพันสมัยนี้แหละ หรือถ้าไปแบบสุดๆ ก็ GSXR1100R 155 แรงม้า ซึ่งถือว่าสุดแล้วในยุค 90′ 

 

แต่ถึงแม้สมัยนั้นจะมีแต่รถ 250-400 เป็นหลัก แต่ว่ารถที่แต่ละค่ายทำออกมาขายนั้นแทบจะถอดแบบรถแข่งระดับโลกมากันเลยทีเดียว ลองนึกถึงภาพเอาเจ้า S1000RR มาแล้ววางเครื่อง 250, 400 ดูละกัน ประมาณนั้นเลย ทุกชิ้นส่วนบนตัวรถล้วนแล้วแต่ถอดแบบมาจากรถแข่งมาให้ใช้กันเลย ผิดกับรถสมัยนี้มาก ถือว่าวัยรุ่นสมัยนั้นได้ใช้ของดีกันจริงๆ ร้านดังๆในสมัยนั้นส่วนมากก็มาจากสายแข่งกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นร้านที่เน้นแต่งตัวใหญ่ๆของแบรนด์เนมเน้นๆอย่าง ไรเดอร์คลับ ย่านสีลม ที่แอดยังไม่กล้าไปเหยียบเลย 

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-1

ถัดมาก็ ร้านอุ๊ดินแดง ร้านแบบบ้านๆ แต่รถเค้าแรงสุดๆเหมือนกันเน้นขายรถ VFR400 แล้วก็ร้านไฮโซหน่อยของเจ้าสัวชื่อดังอยู่แถวพัฒนาการ ร้านซุปเปอร์เคไบค์ ที่มีช่างใหญ่แต่งรถก็แรงขี่ก็เร็วชื่อ ชำนาญ ผลไม้ ประจำอยู่ ยังมีร้านต๋อยตากสิน เฮียสมบัติ เฮียเต่า เฮียดำ ร้านปรีชาธนยนต์ จิระยานยนต์ หรือถ้าอยากจะหารถสวยๆ รถแพงๆ หายากๆ ก็ต้องไป มิสเตอร์ทีไบค์ ย่านวัดแขก จริงๆ ยังมีร้านอีกมากมายหลายสาย ไม่ว่าจะสายทัวร์ สายเมา ที่เหล่า สว.มารวมตัวกัน แต่ยุคนั่นเรามันสายแข่งเลยไม่ค่อยได้ไปเข้ากลุ่มเค้าเท่าไหร่ กลุ่มรถสี่สูบที่ดังๆ สมันนั้นก็ต้อง กลุ่ม JUMBO ที่เหล่าเจ้าสัวในเมืองไทยมารวมตัวกันมากมาย ออกทริปกันบ่อยมากถึงมากที่สุด ยุคนั้นใครๆ ก็รู้จัก 

 

แต่เผอิญแอดยังวัยรุ่นอยู่ อีกกลุ่มนึงที่ดังไม่แพ้กันย่านฝั่งธนคือกลุ่ม ยูเอสอินเวิร์ด กลุ่มนี้ก็ส่วนมากจะเป็นรถสปอตร์เป็นหลัก แล้วมายุคหลังๆ ก็มีกลุ่ม สตอมไรเดอร์ ที่จัดตั้งขึ้นมาก่อนจะเข้าสู่ยุคมืดของรถใหญ่ในบ้านเรา ราคารถในสมัยนั้นถ้าเป็นพวก 400 แบบสภาพพอได้ก็อยู่ประมาณ 70,000-90,000 ถ้าเป็นรถบริการสีเดิมสวยๆ ก็แสนอัพ สมัยนั้นรถจดทะเบียนได้ตามปกติ แต่เนื่องจากเป็นรถมือสอง ราคาก็ค่อนข้างแพงเอาเรื่อง แถมยังต้องซื้อสดสถานเดียว อะไหล่หายาก ค่าซ่อมก็แพง เลยทำให้ยังนิยมเฉพาะในกลุ่มคนที่กล้าเล่นกันเท่านั้น เอามาใช้งานทุกวันคงไม่คุ้มแน่นอน

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-3

วัยรุ่นรถบิ๊กไบค์สมัยนั่นส่วนใหญ่เค้าทำอะไรกัน แน่นอนพอบอกว่าวัยรุ่นมันก็คงไม่แตกต่างจากยุคสมัยนี้ซักเท่าไหร่ แต่ในยุคสมันนั่นเราไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีเฟสบุ๊คหรือไลน์ เลยทำให้ข่าวสารการติดต่อนั้นไม่กว้างขวางเหมือนสมัยนี้ ส่วนใหญ่ก็จะไปรวมตัวกับตามร้านรถที่สังกัดอยู่คุยเล่นกัน ออกไปขี่เล่นกันบ้าง มีป่วนเมืองกันบ้าง แต่รูปแบบไม่ได้เหมือนกับสมัยนี้ ตรงภาพลักษ์ที่ออกมายังคงมีความเป็นผู้ใหญ่อยู่บ้างเพราะสถานะทางสังคมของรถบิ๊กไบค์ในสมัยนั้นยังเป็นอะไรที่พิเศษกว่าทั่วๆไป ส่วนมากคนที่มีรถแแบบนี้ก็จะเน้นใช้เดินทางท่องเที่ยวเป็นหลัก 

 

กลุ่มที่ป่วนเมืองจริงๆ ก็มีแต่ไม่มากนัก สมัยนั้นไม่ว่ากลุ่มรถบิ๊กไบค์ไปจอดกันที่ไหนก็จะมีคนเข้ามาห้อมล้อมดูรถกันสอบถามพูดคุยกัน เพราะอย่างที่บอกครับว่ารถใหญ่ๆในสมัยนั้นไม่ใช่ว่าหาดูได้ง่ายนัก ยิ่งคนต่างจังหวัดด้วยแล้วเข้ามารุมกันอย่างกับมีดารามาโชว์ตัวกันเลย เข้าปั้มเติมน้ำมันกันทีนึงนี่ปั้มแตกกันเลยทีเดียว ยุคนั้นกลุ่มเราจะเที่ยวเชียงใหม่ต้นปีใหม่ และไปสังขละตอนช่วงวันเฉลิมฯกันทุกปี การเดินทางสมัยนั้นสะดวกกว่านะ เพราะรถน้อย และส่วนใหญ่เวลาขี่ไปเป็นกลุ่มเปิดไฟหน้าไปเนี่ย ทั้งรถเก๋งมอไซค์จะหลบซ้ายเปิดทางให้ตลอดทางเลย ส่วนนึงเพราะเค้าอาจคิดว่าเป็นขบวนอะไรซักอย่างเลยต้องหลบเข้าซ้ายด้วยแหละ แล้วเวลาสวนกับกลุ่มอื่นก็มีการโบกมือทักทายกันอยู่เนืองๆ ไม่อยากคิดถึงสมัยนี้เลย ไม่หลบแล้วมีตบใส่อีก ไม่ได้ว่ารถยนต์นะ เป็นเพราะภาพลักษ์รถบิ๊กไบค์สมัยนี้เองแหละมันเปลี่ยนไปเยอะ 

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-4

สมัยนั้นคนใช้รถใหญ่ 4 สูบ ช๊อปเปอร์จะคุ้นเคยกับคำว่า “ไบค์วีค” มากๆ เพราะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมรวมตัวกันแทบทุกอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็น อุดรไบค์วีค สิงห์บุรีไบค์วีค เชียงใหม่ไบค์วีค จันทบุรีไบค์วีค ภูเก็ตไบค์วีค ฯลฯ เรียกว่ามีไบค์วีคจัดหมุนเวียนกันไปแทบจะทุกอาทิตย์กันเลยทีเดียวมีกันครบทุกจังหวัด เที่ยวกันได้ทั้งปีเลย แต่เอาเข้าจริงๆแอดก็ไม่เคยได้ไปงานไบค์วีคกับเค้าหรอก เพราะเราไม่ใช่สายฟรุ้งฟริ้ง สายกิน สายเมา

 

วงการรถใหญ่ 4 สูบ มีแต่ความหวานชื่นทั้งคนขายและคนซื้อมาจนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2538 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศจะเริ่มใช้กฏหมายควบคุมมลพิษกับรถจักรยานยนต์ทุกประเภท นั่นหมายถึงรถจักรยานยนต์ทุกคันจะทำการจดทะเบียนรถใหม่จะต้องมีใบรับรองมาตราฐานการตรวจมลพิษจากกระทรวงอุตสาหกรรมทุกคัน นั่นเท่ากับเป็น “จุดจบ” ของรถใหญ่ 4 สูบที่ ประกอบจากชิ้นส่วนเก่าทั้งหมด

 

เพราะรถที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นตอนนั้นก็ยังไม่ได้มีกฏหมายควบคุม แต่ถึงแม้จะสามารถจูนเครื่องให้ผ่านการตรวจไปได้ แต่ค่าตรวจนั้นก็แสนแพงพอๆกับราคารถหนึ่งคัน มันจึงเป็นที่มาของจุดจบ จำได้เลยว่าก่อนกฏกระทรวงจะมีผลบังคับนี่ ทุกคนก็แห่เอารถที่มีอยู่ไปจดทะเบียนกันก่อนจนขนส่งแทบจะระเบิดกันเลยทีเดียว แล้วรถ 4 สูบ ยุคนั้นก็ปิดฉากลงด้วยทะเบียน 8ส-xxxx เป็นชุดสุดท้าย แล้ววงการรถใหญ่สี่สูบของเมืองไทยก็เริ่มเข้าสู่ยุคมืด

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-5

แต่ถึงกระนั้นกฏกระทรวงก็ไม่สามารถหยุดยั้งความอยากของคนชอบของใหญ่ไปได้ซะทีเดียว ผู้นำเข้าทั้งหลายก็ยังทำธุรกิจกันต่อไป ไม่งั้นจะเอาอะไรยาไส้กัน มันจึงเริ่มเข้าสู่ยุคของรถสีเทา คือรถที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนหรือที่เรียกกันว่ารถอินวอยล์ แต่ก็ทำให้วงการรถใหญ่สี่สูบบ้านเราหยุดชะงักไปมากพอสมควร ความคึกคักเริ่มลดลง ผู้นำเข้าก็ลดลง ร้านค้าก็ลดลง ร้านที่มีสายป่านยาวหน่อยก็ยังทนสู้กันต่อหรือไม่ก็ปรับเปลี่ยนไปเป็นร้านซ่อมกันแทน แต่รถดีๆ สวยๆ ก็ยังมีการทำเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2543 ก็เริ่มมีสัญญานที่ดีเกิดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีการจดทะเบียนรถกันได้อีกครั้ง 

 

แต่มันก็ไม่ใช่ว่าใครๆ จะทำก็ได้ ยังคงผูกขาดอยู่กับกลุ่มคนบางกลุ่มที่มีคอนเน็กชั่น แต่ก็พอที่จะช่วยผ่อนคลายสถานะการณ์ไปได้เป็นอย่างมาก ซึ่งก็เป็นยุคที่เฟื่องฟูของรถขนาดใหญ่ เช่นพวก CBR1100XX BLACKBIRD GSX1300R HAYABUSA และก็พวกซุปเปอร์ไบค์ตัว 1,000 ทั้งหลาย เพราะรถตัวเล็กๆเริ่มจะไม่คุ้มค่าราคาจดทะเบียนแล้ว อีกเรื่องคือรถซุปเปอร์ไบค์ก็มีการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยพัฒนาในคลาส 750 เป็นตัวสูงสุดก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นตัว 1,000 ซีซี แทนตั่งแต่ปี2000 จึงทำให้รถซุปเปอร์ไบค์ในตลาดปรับจาก 750 มาเป็น 1000 ซีซี ดั่งเช่นในปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-6

ในช่วงนั้นเองก็เป็นช่วงที่มีกลุ่มผู้นิยมรถใหญ่ที่รวบรวมเอาคนหนุ่มไฟแรงมีความรู้เข้ามาก่อตั้งเป็นกลุ่มชื่อ StromRider ในช่วงเวลานั้นแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักกลุ่มนี้เพราะถึงกับมีเว็ปของตัวเองในช่วงที่อินเตอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในบ้านเรามากขึ้น เป็นกลุ่มที่รวมเอาผู้ที่รักและชื่นชอบรถรวมถึงมีความรู้ความสามารถทั้งในเรื่องของตัวรถและการขับขี่อยู่มากมายมีการเปิดคอร์สอบรมการขับขี่รถแบบนี้เป็นกลุ่มแรกๆในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ และยังเป็นที่ที่สร้างบุคลากรทางด้านรถใหญ่ในบ้านจนมาถึงในยุคปัจจุบันนี้ด้วย

 

และในยุคนี้เองยังเป็นจุดเปลี่ยนของการแข่งรถซุปเปอร์ไบค์ในบ้านเราอีกด้วย จะบอกว่ามันถือเป็นจุดกำเนิดเลยก็คงไม่ผิดซะที่เดียว โดยในเริ่มแรกนั้นได้มีการจัดแข่งรถใหญ่ที่มีซีซีตั่งแต่ 750 ซีซี ขึ้นเป็นครั้งแรกในบ้านเราโดยผู้จัดการแข่งขันอย่าง A TEAM ผู้จัดการแข่งขันเชลล์ไทยแลนด์แชมเปี้ยนชิพในยุคนั้น อยากให้มีการแข่งขันรถใหญ่ในรูปแบบของไฮไลท์ จึงให้เกียรติกับผมได้เป็นผู้ประสานงานและวางกติกากันแบบประมาณว่าขี่ไปแข่งก็ได้ รถบ้านๆ ไปถึงรถแข่งจริงจังก็มี แข่งกันแบบสนุกสนานมากกว่าจนในปีต่อๆมาก็เริ่มเอาจริงเอาจังกันมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งรุ่น X-Formula สำหรับรถที่มีความจุ 750 ซีซีขึ้นไป ที่สนามไทยแลนด์เซอร์กิต 

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-7

เป็นที่มาของนักแข่งซุปเปอร์ไบค์ชื่อดังจนมาถึงยุคนี้กันเลย จนช่วงหลังก็ย้ายวิกมาจัดกันที่สนามบางกอกเรซซิ่ง หลังห้างซีคอน มีนักแข่งเข้าร่วมแข่งกันมากมาย รถแข่งซุปเปอร์ไบค์เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมีคนเข้าร่วมแข่งขันกันแพร่หลาย มีนักแข่งหลายคนที่ยังโด่งดังในยุคนี้ที่เกิดจะการแข่งขันในยุคนั้นที่สนามหลังซีคอน เป็นจุดศูนย์รวมของคนที่ชอบขี่รถสไตล์เรซซิ่งไปรวมตัวกันรวมถึงมีการจัดกิจกรรมอบรมขับขี่ปลอดภัยกันอยู่เนืองๆจนกระทั่งสนามได้ปิดตัวไป

 

กลับเข้ามาที่เรื่องรถกันต่อ สถานการณ์รถใหญ่ในบ้านเราก็ดูเหมือนจะฟื้นตัวขึ้นมาจนพอที่จะลืมตาอ้าปากกันได้อีกครั้ง ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีค่ายรถใหญ่ๆ ในประเทศก็เริ่มที่จะเข้ามาร่วมวงขอแบ่งเค็กชิ้นพิเศษนี้กันบ้างเช่นค่ายสีเขียวพระรามเก้ากับค่ายส้อมเสียง โดยเริ่มผลิตรถขนาด 250 ซีซี มาจำหน่ายในราคาที่ทุกคนซื้อกันได้และก็นำเข้ารถใหม่บางรุ่นเข้ามาเริ่มขายในตลาดบ้านเราแบบหยั่งเชิงดู

 

เพราะค่ายรถเหล่านั้นได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ถือเป็นการส่งสัญญานไปยังผู้ประกอบการที่ทำรถจดประกอบที่ทำกันมาหลายสิบปี ในช่วงนี้เองการจดทะเบียนรถจดประกอบก็เริ่มที่จะคึกคักกันขึ้นเรื่อยๆ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้มีอันจะกินและอยู่ในช่วงอายุเกิน 30 ปีขึ้นไปเสียส่วนมาก และนอกจากรถเก่าแล้วรถใหม่ป้ายแดงก็เริ่มถูกนำเข้ามาในรูปแบบเดียวกันเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อเช่นเดียวกัน

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-8

และแล้ววันล่มสลายของรถจดประกอบก็มาถึง ปี 2556 รัฐบาลในยุคนั้น ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเรื่องของการห้ามนำเข้าโครงตัวถังรถและการจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนเก่า ซึ่งนั่นก็หมายถึงอวสานของรถใหญ่สี่สูบแบบที่เคยทำกันมาหลายสิบปี จบแบบไม่มีทางกลับมาอีกเลย แม้ว่าในขณะนั้นจะมีผู้ประกอบการหลายกุ่มรวมตัวกันประท้วงและคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ แต่ก็ไม่สามารถทัดทานความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ ผู้ประกอบการที่กลับมาลืมตาอ้าปากได้ไม่กี่ปีก็มีอันต้องล้มหายไปอีกเกือบหมด ถือเป็นผลกระทบครั้งใหญ่ที่สุดในวงการรถใหญ่สี่สูบในบ้านเราเลย เหมือนกับเป็นการเปิดช่องให้ค่ายรถในบ้านเราได้เข้ามาแบ่งเค็กชิ้นนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะคู่แข่งสำคัญอย่างผู้ประกอบการอิสระได้ถูกลบออกไปจากบัญชีแทบจะหมดกระดาน ที่เหลืออยู่ก็แทบจะโงหัวไม่ขึ้นกันเลยทีเดียว

 

แล้วยุคของบิ๊กไบค์ BigBike ก็เริ่มขึ้นเมื่อทุกๆ อย่างเอื้อไปที่ค่ายรถทั้งหลาย ไม่ว่าจะเรื่องการส่งเสริมการผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ในบ้านเรา เรื่องกำแพงภาษีนำเข้าที่ก็เอื้อผลประโยชน์ให้ค่ายรถ การกีดกันผู้ประกอบการอิสระ การกีดกันการนำเข้าชิ้นส่วนรถบางชิ้น และอื่นๆอีก แต่ก็ทำให้ตลาดกลับคึกคักขึ้นเปรียบเสมือนช่วงยุคปี 80′ ของญี่ปุ่นที่ตลาดมอเตอร์ไซค์ในญี่ปุ่นคึกคักที่สุด มีการประกอบและจำหน่ายรถขนาดใหญ่ในประเทศมีการนำเข้าโดยไม่มีกำแพงภาษี ราคารถที่ใครๆก็เอื้อมถึง อายุของคนใช้รถแบบนี้จึงลดลงมาอย่างน่ากลัว ปัจจุบันนี้รถใหญ่แบบนี้ก็ถูกเห็นจนชินตา ไม่ใช่ของแปลกอะไรอีกต่อไปทุกคนมีสิทธิเสพรถบิ๊กไบค์ได้ มองในอีกมุมนึงก็ถือว่าเป็นยุคที่จะทำให้คนไทยได้ใช้รถที่มีสมรรถนะสูงได้ พ่อค้าใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมากมายการค้าขายเกี่ยวกับรถใหญ่ก็กลับมาคึกคักขึ้นอีกมากมายแล้วแต่ใครจะคว้ามันไว้ได้

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-9

ในยุคที่ใครๆ ก็ครอบครองบิ๊กไบค์ได้ง่ายๆ และเป็นยุคที่โลกโซเชี่ยลเข้าถึงทุกๆท้องที่มันจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย จุดประสงค์ในการใช้งานจึงแตกออกเป็นหลากหลายรูปแบบ มีรถที่ใช้งานเฉพาะประเภทให้เลือกใช้มากขึ้นจะอิจฉาผู้บริโภคสมัยนี้เลยจริงๆ และแน่นอนตัวเลขอุบัติเหตุก็นับวันจะสูงขึ้นไปตามจำนวนรถที่มีมากขึ้นเช่นกัน ในอนาคตเราอยากเห็นการควบคุมคุณภาพของประชากรบิ๊คไบค์ให้เทียบเคียงกับประเทศที่เจริญแล้ว โดยหน่วยงานราชการเอง และโดยตัวของผู้เกี่ยวข้องในวงการทุกคนเพื่อดึงภาพลักษ์ที่สวยงามของชาวบิ๊กไบค์กลับมาอีกครั้งนึง

 

เรดบารอน กรุงเทพ เองก็ถือกำเนิดมาในยุคที่ยากลำบากที่สุดของวงการรถใหญ่สี่สูบในบ้านเราเลยก็ว่าได้ เราได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆมาตลอด พัฒนาวงการผู้ชื่นชอบรถใหญ่สี่สูบมาด้วยกันตามยุคสมัย พี่น้องพนักงานเราทุกคนล้วนมาจากสายสนามสายแข่ง เราจัดอบรมการขับขี่รถบิ๊กไบค์มาตั้งแต่ยุคแรกๆของวงการ ออกบูทงานโชว์รถบิ๊กไบค์โดยเฉพาะเป็นครั้งแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ที่จัดโดย คุณวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ในส่วนของช่างบริการก็มีการนำช่างจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นมาอบรมอยู่เป็นประจำ และเรายังมีแผนกนำเข้าอะไหล่เก่าจากญี่ปุ่นมาจำหน่ายจึงเป็นเหมือนแดนสวรรค์เล็กๆ ของคนเล่นรถเลย 

จุดเริ่มต้นบิ๊กไบค์-เมืองไทย-10

ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบรถบิ๊กไบค์ในยุคนั่นไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ถึงกระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยน ต้องรอคอย ต้องเสี่ยง แต่เราก็ประคองตัวให้ผ่านมาได้ด้วยแนวทางการทำงานที่เรายึดถือความซื่อสัตย์ต่องานของเรามาตลอด ถึงแม้ว่าจนถึงปัจจุบันนี้เราต้องปรับเปลี่ยนการขายของเรามาสู่ยุดของรถที่เป็นรถที่ผลิตในบ้านเราแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังคงมาตราฐานการทำงานและสินค้าของเราให้ดีที่สุดเพื่อลูกค้าของเรา เพราะเรารักและหลงไหลในมอเตอร์ไซค์เช่นเดียวกัน ลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่ถึง 30 ปี หรือเพิ่งเริ่มต้นเข้ามาเล่นรถใหญ่หรือที่เรียกบิ๊กไบค์ในปัจุบันอาจจะมีน้อยคนที่รู้จักเรา แต่ถ้าคนที่เคยเล่นรถใหญ่มาก่อนผมมั่นใจว่ามีไม่กี่คนเท่านั้นที่ไม่รู้จักเรา

 

สุดท้ายนี้ขอบคุณที่อ่านมาจนจบได้ ทั้งหมดนี้ผมเขียนขึ้นจากสิ่งที่เป็นประสบการณ์ของตัวผมเอง ตกหล่นผิดถูกยังไงก็รบกวนแนะนำด้วยนะครับ อายุเยอะแล้วความจำไม่ค่อยดี 5555 ใครมีประสบการณ์เก่าๆ ก็มาร่วมแชร์กันนะครับ เพราะเรื่องราวนี้มันเป็นแค่เศษเสี้ยวนึงในยุคนั้นเท่านั้นเองครับ

Source Cr. : RED BARON BKK

อ่านข่าว News Talk เพิ่มที่นี่


 

เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่

Website : motowish.com 

Facebook : facebook.com/motowish



ห้ามคัดลอกบทความหรือเนื้อหาในเว็บ Motowish